You are currently viewing ภาวะหัวใจโต กับ ความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ LVH

ภาวะหัวใจโต กับ ความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ LVH

จากหัวใจที่มีกล้ามล่ำบึ๊ก จนถึง..หัวใจวาย ปั้มเลือดไปไม่ไหว

ความดันโลหิตสูง ส่งผลโดยตรงต่ออวัยวะสำคัญหลายระบบ เพราะเส้นเลือดแดง คือ เส้นทางลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆนั่นเอง แรงดันในท่อเส้นเลือดที่สูงกว่าระดับที่เส้นเลือดจะรับไหว ก็จะทำให้ท่อหลอดเลือดค่อยๆเสื่อมสภาพลง 

แต่อวัยวะหัวใจนั้น มีความพิเศษกว่าอวัยวะอื่น ตรงที่ ตัวหัวใจเอง เป็นตัวปั้มเลือดออกจากหัวใจ หัวใจจึงเป็นตัวกำเนิดแรงดันเลือดในระบบไหลเวียนเลือดแดงโดยตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอย่าได้เข้าใจผิดไปว่า การที่เรามีภาวะความดันโลหิตสูงนั้น เป็นเพราะผลจากหัวใจออกแรงปั้มเลือด “แรง” เกินปกติ… ความเป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

ตรงกันข้าม.. การที่ระดับแรงดันในระบบหลอดเลือดแดง สูงขึ้นมากกว่าขีดปกติ (ควรจะเป็นที่ระดับแรงดันเลือดไม่เกิน 120/80) มันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องออกแรงเพิ่มขึ้น เพราะแรงต้านในระบบหลอดเลือดแดงสูงขึ้น

พีงทราบ่ว่า..แรงดันต้านการบีบตัวของหัวใจห้องซ้าย คือ แรงดันในหลอดเลือดแดงขั้วหัวใจ ซึ่งเป็นแรงดันที่แท้จริงที่มีผลต่อการทำงานปั้มเลือดออกสู่ร่างกายของหัวใจห้องซ้าย ..จะเรียกภาษาวิชาการหน่อย ก็คือ Central Blood Pressure ซึ่งต่างจากแรงดันเลือดที่เราวัดที่แขน เวลาไปหาหมอ ..จะเป็น Peripheral Blood Pressure ซึ่งแรงดันที่แขนนี้ ว่าที่จริงแล้ว เป็นเพียงตัวแทนเทียบเคียงแรงดันส่วนกลางที่ขั้วหัวใจ …ซึ่งการลดความดันโลหิตลงให้ได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้น ควรที่จะต้องลดแรงดัน central blood pressure ที่ตำแหน่งขั้วหัวใจนี้

กลับมาที่การออกแรงปั้มเลือดของหัวใจห้องซ้าย ..ถ้าหากแรงดันเลือดแดงในระบบไหลเวียนของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แรงต้านทานการปั้มเลือดออกจากหัวใจก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย ..เหมือนกับหัวใจห้องซ้ายเราต้อง “เล่นเวท” อยู่ตลอดเวลานั่นแหละครับ …นานวันเข้า หัวใจที่เหมือนกับต้องยกดัมเบลล์ตลอดเวลานั้น มันก็จะต้องกล้ามใหญ่ขึ้น… อย่างแน่นอน

แต่ทีนี้ ปัญหามันมีอยู่ว่า หัวใจที่กล้ามเนื้อหนาตัวขึ้น เพราะมันต้องออกแรงฝืนตลอดเวลานั้น …แม้ในระยะแรกๆ กล้ามเนื้อที่หนาตัวขึ้นจะทำให้แรงปั้มเลือดทรงๆได้อยู่ก็ตาม แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน กล้ามเนื้อหัวใจที่ล่ำบึ๊กขึ้นมานั้น หาใช่เป็นเรื่องดีแต่อย่างใดไม่… 

หากเราออกกำลังเล่นเวท ยกดัมเบลล์ ยกบาร์เบลล์ท่า bench press ได้ร่วมร้อยกิโล (200+ ปอนด์ขึ้น) มันย่อมแสดงว่าร่างกายเราแข็งแรงทนทาน …แต่กระนั้นก็ตาม หากใครเล่นเวทมันทั้งวัน เล่นทุกวัน ต่อเนื่องกัน เราคงยกได้ไม่เกินวันนึงก็หมดแรงแล้ว… และเป็นความจริงเช่นกันว่า การออกกำลังมากเกินไปจนเกิดภาวะ overtraining นั้น …เป็นโทษต่อระบบต่างๆของร่างกาย และกล้ามเนื้อก็เกิดการบาดเจ็บ มีเยื่อใยพังผืดไปแทรกซึมในใยกล้ามเนื้อ ร่างกายที่รองรับการออกกำลังติดต่อกันจน Overtrain นั้น…จะอ่อนแอลง

สำหรับหัวใจก็เช่นกัน…. กล้ามเนื้อหัวใจที่ต้องทนต่อแรงดันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันทุกๆจังหวะการเต้นของหัวใจ ทุกนาที ทุกชั่วโมง ทั้งเดือนทั้งปีนั้น ย่อมต้องสึกหรอไปแน่นอน …แม้ว่า กล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายจะดูใหญ่ล่ำขึ้น  แต่มันไม่ใช่สัญญาณที่ดี …เพราะปกติแล้ว หัวใจคนเราก็มีขนาดโตขึ้นตามขนาดร่างกายเป็นปกติได้ เช่นจากตอนเด็กเป็นผู้ใหญ่ ขนาดหัวใจย่อมต่างกันแน่นอน แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบปกติ 

การที่กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น หรือล่ำขึ้นนั้น …สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากระดับแรงดันเลือดที่สูงอยู่นานๆ …แต่กระนั้นก็ตาม เราพบว่า การวัดความดันเลือดเป็นครั้งๆ เฉพาะตอนที่เราไปหาหมอตามนัดทุกสามเดือนนั้น ระดับความดันเลือดที่ได้ จะไม่ค่อยบ่งบอกว่า คนคนนึงที่กำลังทานยารักษาความดันโลหิตสูงอยู่ จะมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว หัวใจโตได้จริงสักเท่าไหร่

ผมหมายถึงว่า การพยากรณ์ว่าถ้าคุณเป็นความดันโลหิตสูง คุณจะเกิดปัญหาหัวใจโต มากน้อยขนาดไหนนั้น …การวัดความดันเป็นครั้งๆ สามเดือนที และวัดที่โรงพยาบาลนั้น มันไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพยากรณ์นี้ สักเท่าไหร่

การวัดความดันที่เป็นข้อมูลที่ “ชัดเจน” กว่า คือการวัดความดันเองที่บ้าน โดยการวัดความดันเลือด(ที่แขน) วันละหลายๆครั้ง …ถ้าให้ดีก็ต้องไม่น้อยกว่าวันละ 4-5 ครั้ง หากทำได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาตัวขึ้น หรือที่เราเรียกว่า Left Ventricular Hypertrophy (LVH) นั้น..พบว่ามีเหตุจากภาวะความดันโลหิตสูงเพียงราวๆ หนึ่งในสี่..ของผู้ป่วยทั้งหมดที่มีภาวะ LVH …หรือหมายถึงว่า การที่หัวใจหนาตัวขึ้นนั้น ไม่ใช่เพราะมันต้องยกดัมเบลล์ทุกจังหวะชีพจรเสมอไป หากแต่ปัจจัยส่วนอื่น นอกเหนือจากแต่ “แรงต้านการปั้มเลือด” ยังเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย…

ปัจจัยนอกเหนือจาก “แรงต้านการปั้มเลือด” นี้ก็ได้แก่ ..การทานอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง.. ภาวะอ้วน ภาวะกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกายเสื่อมลง หรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการเมตาโบลิก (metabolic syndrome)

ถึงตอนนี้ ผู้อ่านหลายคนคงรู้สึกปวดหัว ว่าทำไมผมต้องเล่าอะไรให้มันยุ่งยากซับซ้อน เอาแค่ว่ากล้ามเนื้อหัวใจล่ำสันขึ้นเพราะระดับความดันโลหิตสูงขึ้น ก็ง่ายๆตรงไปตรงมา แค่นี้ไม่ได้หรือ …

คำตอบก็เพราะว่า ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า กระบวนการทางธรรมชาตินั้น มันมีความเกี่ยวเนื่องระหว่างปัจจัยหลากหลาย มาปฏิสัมพันธ์กันอยู่ ..ระบบการทำงานของร่างกาย มีองค์ประกอบต่างๆมากมาย ที่หากว่า องค์ประกอบเหล่านี้ ดำรงอยู่อย่างสมดุลย์กัน ก็จะไม่เกิดโรคาพยาธิ.. แต่หากปัจจัยหนึ่งใด แปรปรวนไป ก็จักต้องสูญเสียความสมดุลย์ไป เกิดเป็นความผิดปกติในการทำงานของร่างกาย

โดยทั่วไปแล้ว ความผิดปกติในการทำงานของระบบร่างกาย มิได้เกิดจากปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดโดดๆ เพียงปัจจัยเดียว …(อาจจะมีบ้างที่ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อย เป็นสาเหตุเดียวของความผิดปกติในการทำงานของระบบร่างกาย อย่างเช่น โรค G-6PD Deficiency) หากแต่ ความผิดปกติของระบบการทำงาน เกิดจากองค์ประกอบ “โดยรวม” มาเสริมซึ่งกันและกัน

ณ ตอนนี้ เราเล่ามาถึง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว หรือล่ำสันขึ้น ..พร้อมจะสู้กับแรงต้านการปั้มเลือดออกจากหัวใจ หรือพร้อมที่จะปั้มเลือดออกจากหัวใจเพิ่มขึ้น …ระยะแรกนี้ ..หลายคนคงคุ้นๆกับตัวเอง … เพราะในชีวิตจริงนั้น คนไข้จำนวนไม่น้อยเลย ที่จะได้รับการบอกกล่าวจากแพทย์ที่รักษาโรคความดันโลหิตสูง (อาจจะเบาหวาน ไขมัน. อีกด้วย)…… ว่า ..”คุณมีหัวใจโต”… 

ใช่แล้วครับ…. “คุณมีหัวใจโต” …แต่จากนั้นล่ะ..??.. หมอก็อาจจะไม่ได้ทำอะไรต่อ และคนไข้คนนั้น ก็คงจะไม่ได้ตระหนักอะไร ว่าหัวใจโต มันสำคัญยังไง ..ก็..ปล่อยเลยตามเลย ..ก็หมอไม่ได้ว่ายังไงต่อ

อันที่จริงแล้ว …หมอเขาอาจจะบอกให้คนไข้คนนั้น ลดการทานเค็ม ควบคุมความดันให้ดีขึ้น เลิกบุหรี่…. แต่บอกไปแล้ว อาจจะไม่ทันได้คิด หรือยัง ..งง.. อยู่… หรือบางที เนื่องจากคนไข้ที่มาโอพีดีอายุรกรรม (หรือหลายๆครั้งอาจจะเป็นโอพีดีแพทย์ทั่วไป) มันล้นทะลักมากจริงๆ… พูดลงรายละเอียดซ้ำซากกับคนไข้หลายสิบรายเรื่องเดียวกัน บางที…มันก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ ..ไม่มีทางเป็นไปได้หรอกครับ ที่หมอคนนึงตรวจคนไข้ร่วมร้อยคน จะมานั่งอธิบายอย่างละเอียด ถึงเรื่องที่ควรต้องทราบ อย่างหัวใจโต เกิดอะไรขึ้นได้บ้างเนี่ย …พูดซ้ำๆ กับคนไข้ที่เปลี่ยนหน้ามาหลายสิบรายน่ะ

มันก็เลยเกิดปัญหาที่ทุกวันนี้ ผมเองคิดว่า มันน่าจะเป็นปัญหาถ้วนหน้ากัน ไม่มากก็น้อย… คือ… ภาวะแทรกซ้อนเริ่มแรกต่างๆ จากความดันโลหิตสูง ที่ยังไม่ส่ออาการออกมาแรงๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น แต่ยังไม่หัวใจวาย น้ำท่วมปอดชัดๆ หรือไตเริ่มทำงานถดถอยลง แต่ยังไม่ถึงขนาดต้องเตรียมตัวล้างไต หรือเส้นเลือดสมองยังไม่แตก แต่เริ่มมีภาวะความจำเสื่อม เป็นต้น …คือภาวะเหล่านี้ มันเป็นอะไรที่บ่งบอกแล้วว่า ความดันโลหิตสูงของคุณ (อาจจะร่วมกับเบาหวาน ไขมัน บุหรี่ ฯลฯ) เริ่มจะส่งผลแล้วนะ …เครื่องยนต์เริ่มสึกหรอแล้ว เหยียบคันเร่งเครื่องก็อืดช้า แต่ก็พอไปได้ …

มันเป็นปัญหาในเชิงสาธารณสุขก็ตรงที่ …เรามักจะปล่อยปละกับ การที่เครื่องยนต์เริ่มสึกหรอ เร่งไม่ค่อยขึ้น ผ่านไป ผ่านไปก่อน…แล้วค่อยมาตาลีตาเหลือก “รักษาเต็มที่” เมื่อตอนที่เครื่องยนต์มันดับกลางทาง ขณะกำลังวิ่งรถบนทางด่วน…

ครับ… ผมหมายถึง เราปล่อยให้ความดันสูง เบาหวาน ฯลฯ มันทำให้หัวใจเริ่มหนาตัวขึ้น แต่ไม่ทำอะไรกับมันอย่างเต็มที่ (คุมความดัน ลดเกลือ หัวใจก็จะกลับมาปกติ ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างเครื่องดับกะทันหัน) แต่ปล่อยให้เกิดภาวะ หัวใจวาย น้ำท่วมปอด.เส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลัน. ไตวายจนต้องล้างไต อัมพาตรุนแรงจากเส้นเลือดสมองแตก อะไรอย่างนี้ แล้วค่อยมารักษาเอาตอนที่เกิด “พายุกระหน่ำ” ไปแล้ว

เอาเถอะครับ… ตอนต่อไป กระผมจะสาธยายว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล่ำสันเกินปกติ หรือ LVH นั้น… มันก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง .ประมาณว่า ถ้าหากหมอบอกคุณว่า  “คุณมีหัวใจโตนะ” แล้วมันจะ..ถึงชีวิตเลยมั้ย…

 

Reference:

  1. Manual of Hypertension, European Society of Hypertension. 2nd Edition, 2014. Chapter 17. Cardiac Damage and Progression to Cardiac Failure.

Leave a Reply