You are currently viewing ความดันโลหิตสูง – ตอน 2

ความดันโลหิตสูง – ตอน 2

ความดันโลหิตสูง

ทำไม …ความดันเลือดมันสำคัญกันนักหนา ตอน 2

เมื่อพูดถึงกระแสเลือด เราก็ต้องนึกถึงแรงที่ทำให้น้ำเลือดสามารถเคลื่อนที่ไปในหลอดเลือดได้ แต่หากจะเปรียบเทียบให้พอมองภาพออก เรามาเริ่มจากการจินตนาการถึง สายธารแห่งหนึ่ง ในป่าดิบชื้น ซึ่งต้นธารก็คือน้ำตกแห่งหนึ่ง …เราคงพอจะนึกออกว่า ลำธารสายนี้ น้ำในลำธารจะต้องไหลเป็นกระแสอย่างแน่นอน ส่วนจะไหลเชี่ยวแรงแค่ไหน ก็ขึ้นกับว่า “แรงกระทำ” ต่อสายน้ำ มันแรงแค่ไหน

ถ้าหาก..น้ำตก ที่เป็นต้นธารแห่งสายน้ำนั้นๆ เป็นน้ำตกที่มีความสูงใหญ่ และทางน้ำ ก็ไหลลงมาเป็นธารแคบๆ…ดังนี้ คงพอนึกออกว่า กระแสน้ำน่าจะเชี่ยวกราก แม้แต่ก้อนหินใหญ่อาจจะล่องลอยตามกระแสน้ำได้

แต่ถ้าหาก..น้ำตก ต้นธารนั้นๆ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ก็แน่นอนว่า แรงส่งของลำธาร ย่อมไม่มากเท่าไหร่ ไม่ว่าทางน้ำจะแคบ หรือกว้าง น้ำก็คงไม่ไหลเชี่ยวมากนัก

อีกกรณีคือ ถ้าหากน้ำตกต้นธารมีความแรงมาก แต่ทว่าเบื้องล่างใต้น้ำตก ภูมิประเทศเป็นแอ่งเก็บน้ำใหญ่ ไม่ได้เป็นลำธารต่อมาจากน้ำตกโดยตรง ดังนี้แล้ว แรงส่งกระแสน้ำ ก็ย่อมลดทอนไป และกระแสธาร ก็คงไม่ได้เชี่ยวกรากจนซัดก้อนโขดหินให้หลุดลอยไปได้

ในธรรมชาติ..มีวัฏจักรของสรรพสิ่งอยู่เสมอ น้ำตกต้นธาร ก็รับมวลน้ำมาจากฟากฟ้าในรูปสายฝนโปรยปราย น้ำในกระแสธาร ก็ไหลรินลงมาสู่ท้องที่ต่างๆ ตามเรือกสวนไร่นา หล่อเลี้ยงชุมชนหมู่บ้าน สายธารเล็กๆ รวมเป็นแม่น้ำใหญ่ ไหลลงสู่ท้องทะเล ความร้อนทำให้น้ำระเหยออกมา ทั้งจากผิวน้ำทะเล และจากผืนดิน  หยาดละอองน้ำมารวมตัวเป็นก้อนเมฆ กระแสลมพัดพาเมฆเข้าหาผืนแผ่นดิน เกิดกลั่นตัวเป็นสายฝนอันชุ่มฉ่ำ อันกลับไปเริ่มเป็นวัฏจักรซึ่งไร้ต้นไร้ปลาย…พลังแห่งธรรมชาติที่ทำให้เกิดวัฏจักรแห่งน้ำ ก็คือความร้อนจากดวงอาทิตย์ เป็นปฐม

คุณผู้ติดตามอ่าน อาจจะสงสัยว่า ทำไมหมอสัญญา ถึงยกเรื่องวัฏจักรน้ำบนโลก…ทั้งนี้ ก็เพราะว่า กฎแห่งธรรมชาติมักจะมีความสอดคล้องกัน สรรพสิ่งต่างๆในธรรมชาติ ล้วนอยู่ได้เพราะความสมดุล ท่ามกลางองค์ประกอบต่างๆที่มีความขัดแย้งกัน มันกลับส่งเสริมซึ่งกันและกัน หักล้างกันและกัน ดังเช่น ความร้อน ทำให้น้ำเหือดแห้งจากผืนดิน แต่ความร้อน ก็คือ พลังหลักในการขับเคลื่อนวัฏจักรน้ำ

ในร่างกายคนเราก็เช่นกัน ร่างกายคนเรา ก็คือ “การแสดงออก” อย่างหนึ่งของกฎธรรมชาติ การที่เราจะมีสุขภาพดี ระบบต่างๆภายในร่างกายทำงานปกติ ก็เพราะความสมดุลขององค์ประกอบต่างๆภายใน ..และระบบไหลเวียนกระแสเลือด ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ วัฏจักรของกระแสเลือด เพราะกระแสเลือดออกจากหัวใจ และก็กลับเข้าหัวใจ เป็นวงจรเดียวกัน

และแม้ว่า ระบบวัฏจักรน้ำบนโลก จะไร้ต้นไร้ปลาย (อันเป็นสิ่งสากลประการหนึ่งในธรรมชาติ) แต่ระบบไหลเวียนกระแสเลือดในร่างกายคนเรา มีจุดเริ่มต้น จากหัวใจ และจุดสิ้นสุดที่หัวใจ

เลือด..ต้องไหลเป็นกระแสเลือดภายในท่อหลอดเลือด เพราะเลือดต้องนำสารอาหาร ฮอร์โมนต่างๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ออกซิเจน นั่นเอง…ถ้าหากขาดออกซิเจน เซลล์ต่างๆในร่างกายเราก็อยู่ได้ไม่

เลือดไหลไปตามท่อลำเลียง คือหลอดเลือด …เลือดที่มีออกซิเจนสูงออกจากหัวใจ ด้วยแรงส่งจากการปั้มเลือดโดยหัวใจห้องล่างฝั่งซ้าย จากนั้น กระแสเลือดจะนำพาเลือดไปเลี้ยงร่ายกายทุกอณู แล้วมาไหลรวมกัน เสมือนกับน้ำที่ไหลซึมออกจากรากไม้ แล้วมารวมเป็นลำธาร จากเลือดที่อยู่ในเส้นเลือดฝอยรอบๆเซลล์ต่างๆ ก็จะมารวมกันเป็นหลอดเลือดดำ จากแขนงเล็กๆ รวมกันเป็นท่อหลอดเลือดดำใหญ่กลางลำตัว และกลับมารวมเข้าที่หัวใจอีกครั้ง (รายละเอียดระบบไหลเวียนกระแสเลือด อ่านต่อที่นี่)

Embed from Getty Images

การที่เลือดจะเกิดการไหลผ่านในหลอดเลือดได้นั้น ลำพังแค่แรงดันในหลอดเลือดอย่างเดียว คงไม่อาจจะทำให้น้ำเลือด เกิดการ “เคลื่อนตัว” ไปในท่อหลอดเลือดได้ หากแต่การที่มวลเลือดภายในท่อหลอดเลือด มีการเคลื่อนตัวได้ ก็เพราะมีความแตกต่างระหว่างแรงดันต้นทาง กับแรงดันปลายทางนั่นเอง…เพราะถ้าหากแรงดันทุกจุดในระบบท่อหลอดเลือดเท่ากันหมด ก็เท่ากับว่าทุกจุดในระบบหลอดเลือดจะหยุดนิ่ง เพราะไม่มีความแตกต่างของแรงดันเลือด

แรงดันเลือดที่ออกจากขั้วหัวใจนั้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 100 มิลลิเมตรปรอท…ซึ่งเป็นแรงดันที่พอเหมาะต่อการส่งเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมอง (ยีราฟ คอยาวกว่าสัตว์อื่น แรงดันเลือดที่ขั้วหัวใจ อาจจะขึ้นไปมากกว่านี้สามเท่า) และอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย

อวัยวะที่ได้รับเลือดมากกว่าความจำเป็นของเซลล์ในอวัยวะนั้นๆ มีอยู่อวัยวะเดียวในร่างกายคือ ไต ของเรานั่นเอง….ไต ได้รับเลือดมากเกินกว่าที่มันจะจำเป็นต้องใช้ออกซิเจน หรือสารอาหาร

Embed from Getty Images

แต่ไต ต้องได้รับเลือดเกือบถึง ¼ ของเลือดที่ออกจากหัวใจในแต่ละครั้ง ก็เพราะว่า ไตต้องมีการกรองของเสียตลอดเวลา…พูดอีกอย่างคือ ถ้าหากแรงดันในระบบไหลเวียนเลือดอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานๆ อวัยวะที่น่าจะ “พัง” ก่อนเพื่อน (เพราะทนแรงดันมหาศาลไม่ไหว) ก็น่าจะเป็นไต นี่แหละ…ต่อจากไต ลำดับต้นๆ ก็น่าจะไม่พ้นหัวใจห้องซ้ายล่าง เพราะเป็นปั้มที่ต้องออกแรงต้านแรงดันที่ค้างท่อในระบบ มากกว่าปกติ  – แรงดันค้างท่อในระบบหลอดเลือด นี้ ภาษาสรีรวิทยา หมายถึง Afterload

ดังนั้น เราคงพอเห็นความเป็นจริงอย่างหนึ่ง…อวัยวะที่จะ “พัง” จากโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่ได้ควบคุมระดับความดันให้ดีเท่าที่ควร ก็คือ หัวใจ กับ ไต นั่นเอง…

แต่อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่ได้ควบคุมนั้น ไม่เพียงทำให้หัวใจต้องปั้มหนักมากขึ้น และไต ต้องเสื่อมสภาพไปเท่านั้น …หากแต่ หลอดเลือดแดง ที่รับแรงดันสูงๆอยู่นานๆ มันก็ย่อมจะต้องปริแตกร้าว เสื่อมสภาพไปได้ในที่สุดเช่นกัน …ซึ่งก็จะเกิดได้ทั้งหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลอดเลือดแดงเล็กๆในสมองแตก หรือโป่งพอง ..หลอดเลือดแดงตามส่วนต่างๆเกิดหินปูนไขมันไปสะสมพอกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ

ทีนี้…ไอ้ตรงนี้นี่แหละ ที่จะก่อให้เกิดปัญหากลับมาเป็นวัฏจักร (อีกแล้ว) เพราะเมื่อแรงดันในหลอดเลือดสูงบ่อยๆ หัวใจก็ต้องบีบปั้มเลือด ด้วยแรงดันที่สูงกว่า (มิฉะนั้น เลือดก็พุ่งออกจากหัวใจไม่ได้ ถ้าหากแรงดันมันไม่ต่างกันมากพอ) เมื่อแรงดันสูงอยู่นานๆเข้าไปอีก หลอดเลือดก็เริ่มเสื่อมสภาพ จากที่หลอดเลือดเคยยืดหยุ่น เหมือนยางอ่อน รับแรงดันสูงๆได้ดี..กลับกลายเป็นหลอดเลือดที่ผนังเริ่มแข็งกรอบ ยืดหยุ่นยาก …ทีนี้ พอผนังหลอดเลือดยืดหยุ่นยาก ก็กลับทำให้ แรงดันในระบบหลอดเลือดแดง สูงขึ้นไปอีก

สาเหตุที่เมื่อความดันสูงๆ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวมากขึ้นนั้น คงต้องเล่ากันยาว

แต่หลอดเลือดที่แข็งตัวมากขึ้น ก็ทำให้แรงดันในระบบหลอดเลือดคงระดับสูงมากขึ้นต่อไปนั้น อธิบายได้ง่ายๆว่า โดยปกติแล้ว เลือดในระบบไหลเวียนเลือดแดงมีแค่ 500 ซีซี (อีกราวๆ 4,500 ซีซี อยู่ในระบบหลอดเลือดดำ เป็นเหมือน “แก้มลิง” กับเก็บเลือดในร่างกาย)  แต่หัวใจปั้มเลือดออกมาเกือบครั้งละ 80 – 90 ซีซี…ซึ่งเลือดที่ถูกอัดออกมานี้ ก็จะดันเข้าระบบหลอดเลือดแดงโดยตรง

ถ้าหากหลอดเลือดแดงใหญ่ๆ มีความยืดหยุ่นเป็นปกติ…ความดันในหลอดเลือดแดงเส้นใหญ่ๆ (เช่นที่ข้อพับแขน) ก็จะไม่พุ่งสูงขึ้นทันที หากแต่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ยืดหยุ่น จะดูดซับแรงดันที่เพิ่มขึ้นจากหัวใจโดยรวดเร็ว ด้วยการที่หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่นี้ เกิดการเต้นขยายตัวออก ตามแรงดันเลือดที่สูงตามจังหวะการเต้นของหัวใจ …หลอดเลือดแดงที่เต้นขยายตัว เราก็จับได้เป็นชีพจนที่ข้อมือ หรือที่ซอกคอ ข้อพับแขน นั่นเองครับ

แต่เมื่อแรงดันในระบบหลอดเลือดแดง เพิ่มสูงอย่างเรื้อรัง (อาจจะเช่น ทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูงๆ มาตั้งแต่วัยรุ่นๆ) ก็จะทำให้หลอดเลือดแดงเหล่านี้เสียสภาพไปได้มากขึ้นๆ จากที่ผนังหลอดเลือดเคยนุ่มยืดหยุ่นดี ก็กลายเป็น ท่อแข็งๆ กระด้างๆ

ประสบการณ์ตรงของผม

มีหลายต่อหลายครั้ง ที่ผมต้องผ่าตัดหลอดเลือดแดงที่ช่องท้อง หรือที่ระดับขา โดยอาจจะทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดแดงที่อุดตัน จากระดับเหนือเข่า ไปใต้เข่า …ก็เห็นอยู่เรื่อยๆครับว่า หลอดเลือดแดงที่อุดตันนั้นจะแข็งโป๊กแบบเอามือบีบให้แฟบลงไปไม่ได้ ส่วนบริเวณที่ไม่ได้ตีบตัน แต่มีตะกรันไขมันไปสะสมอยู่มาก เป็นพลาคแข็งๆ ก็ทำให้ผนังหลอดเลือดตรงส่วนนั้น กระด้างตามไปด้วยเช่นกัน ..ซึ่งเวลาศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือดเราจะทำการต่อหลอดเลือดแดง เราก็จะเลือกเอาส่วนที่เป็นผนังที่ยังดีที่สุดเท่าที่จะดีได้

Leave a Reply