You are currently viewing ความดันโลหิต วัดแค่สามเดือนครั้ง ไม่ได้

ความดันโลหิต วัดแค่สามเดือนครั้ง ไม่ได้

ความดันเลือด ..วัดสามเดือนครั้ง จะพอหรือ?

แม้ว่า ระบบการปรับความดันในกระแสเลือด จะสามารถควบคุมความดันเลือดไม่ให้แกว่งมากเกินไปแบบรถไฟเหาะตีลังกาก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้วระดับความดันเลือด จะมีการแปรเปลี่ยนขึ้นลงตามปกติอยู่เรื่อยๆ ในช่วง 24 ชั่วโมง .เสมือนกับน้ำทะเลย่อมมีคลื่นบนผิวทะเล มิได้เป็นน้ำนิ่งเหมือนอยู่ในบ่อน้ำแต่อย่างใด

20150308_182942
น้ำทะเล ที่ดูราบเรียบ ค่อนข้างสงบนิ่ง เปรียบเสมือนระดับความดันในกระแสเลือด ที่อยู่ในระดับเหมาะสม แม้จะมี “ระลอกคลื่น” บ้าง แต่ก็ไม่ได้สูงเกิน หรือต่ำเกินจะ “ระดับน้ำทะเลปานกลาง”

เหตุใด น้ำทะเล จึงมีคลื่นกันเล่า?…..เหตุผลก็เพราะ “พลังงาน” จากกระแสลม ซึ่งก็ก่อตัวจากพลังงาน “ความร้อน” นั่นเอง

ocean-wave-1149174_1920
ขณะที่เกิดพายุกลางมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น และระลอกคลื่นค่อนข้างมีกำลังแรง ผิวทะเลค่อนข้างจะ “ปั่นป่วน” เสมือนกับคนที่มีโรคความดันเลือดสูง ซึ่งระดับแรงดันจะค่อนไปทางสูงเกือบตลอด คล้ายกับกระแสเลือดเกิด “พายุ” อยู่ตลอด กำลังพลังงานลมพัดแรงตลอด…พลังลมบนผิวทะเล เทียบได้กับ oxidative stress บนผนังหลอดเลือดนั่นเอง

เราลองคิดเปรียบเทียบกับ ระดับน้ำทะเล ที่ผมเคยกล่าวมา…ระดับน้ำทะเลปานกลาง คือค่าเฉลี่ยของระดับน้ำในช่วงเวลาหนึ่งๆ แน่นอน กลางคืน กับกลางวัน ระดับน้ำทะเล ไม่เท่ากันแน่ๆ…เพราะมีพระจันทร์ในตอนกลางคืน กับพระอาทิตย์ในตอนกลางวัน …ซึ่งระดับความดันเลือดคนเรา ก็มีระดับขึ้นๆลงๆ เสมือนระดับน้ำทะเล…เป็นคลื่น เป็นระลอกๆให้เห็นได้

แต่ทีนี้ เมื่อระดับความดันเลือด ที่เราไปวัดที่โรงพยาบาล เกิดอยู่ในจังหวะ “ขึ้น” สำหรับบางคน ที่ระดับความดันพื้นฐานไม่ได้สูงอยู่แล้ว ก็อาจจะอ่านตัวเลขความดันเป็นปกติอยู่ แต่ถ้าหากคนคนนั้นมีระดับพื้นฐานที่ค่อนไปทางสูง หรือน้ำทะเลมันหนุนสูงอยู่กว่าระดับปกติของคนอื่น เมื่อ “คลื่น” มันอยู่ระดับขึ้นพอดี ก็น่าจะอ่านความดันได้สูง…

ทว่า..ในมุมกลับกัน..ถ้าหาก “คลื่น” มันอยู่ในช่วงลดต่ำ เป็นท้องคลื่นพอดี เราก็อาจจะอ่านค่าความดันเลือดที่โรงพยาบาล ได้ในระดับปกติ

ในกรณีดังกล่าวนั้น ความดันเลือดระดับพื้นฐานโดยเฉลี่ย หรือ “ระดับน้ำทะเลปานกลาง” สามารถจะมีค่าในช่วงปกติ หรืออาจจะสูงกว่าคนอื่นบ้าง แต่ไม่มากได้ (เช่นความดันตัวบนเฉลี่ยอาจจะอยู่ในช่วง 120 – 139 มิลลิเมตรปรอท – ไม่ถือว่าเป็นความดันเลือดสูง แต่ก็มากกว่าระดับที่ดีที่สุดที่ควรจะน้อยกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท) โดยที่เวลาไปวัดความดันเลือดที่โรงพยาบาล อาจจะวัดความดันได้สูงกว่าระดับเฉลี่ยจริงๆ หรือต่ำกว่าระดับเฉลี่ยจริงๆ ก็ได้ทั้งนั้น

 

กล่าวได้อีกอย่างคือ การวัดความดันเลือดที่โรงพยาบาลเป็นครั้งคราว ตามหมอนัดเป็นทีๆไปนั้น มันไม่ได้บอกอะไรมาก เพราะในคนที่ความดันเฉลี่ยพื้นฐานที่ค่อนไปทางสูง พอไปวัดที่โรงพยาบาลแต่ละครั้ง อาจจะวัดได้ตัวเลขออกมา ไม่สูงมากเกินขีดกำหนด เช่นอาจจะวัดความดันได้ราวๆ 135/85 มิลลิเมตรปรอท..โดยที่ความดันเฉลี่ยจริงในช่วง 12 ชั่วโมงตอนกลางวัน อาจจะสูงถึง 150/90 มิลลิเมตรปรอทได้ – อันนี้ เราเรียกภาษาหมอว่า masked hypertension หรือความดันสูงจำแลง

อีกกรณีหนึ่งคือ ความดันพื้นฐานไม่สูงมาก โดยค่า baseline เฉลี่ยใน 12 ชั่วโมงเวลาตื่น อาจจะอยู่ที่ราวๆ 130/80 จริงๆแต่ทว่าพอไปโรงพยาบาล จะด้วยความประหม่าหมอ หรือประหม่าสถานที่ เจ้าหน้าที่ อากาศร้อน รอนาน คนไข้แออัด ทำให้ความดันที่วัดได้ที่โรงพยาบาล จะวัดกี่ครั้งๆ ก็ได้ราวๆ 145/80 มิลลิเมตรปรอท…แบบนี้ เราเรียกว่า white coat hypertension แปลง่ายๆว่า ความดันเลือด มันสูงผิดปกติ เพราะเจอชุดหมอ/พยาบาล (…น่าจะเพราะเจอชุดพยาบาลมากกว่าไหม? …ฮา)

ดังนั้น…เราจะเห็นว่า การวัดความดันเลือดนานๆครั้ง แบบที่คนไข้จำนวนไม่น้อยได้รับอยู่ในขณะนี้ มันไม่ได้ให้ตัวเลขที่ “เป็นความจริง” เท่าไหร่นัก …เหตุเพราะว่า ความดันเลือดคนเรา ก็เหมือนคลื่นบนผิวน้ำทะเล…มีขึ้นมีลง เป็นระลอกคลื่น

และความจริงประการนี้ จึงทำให้ สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ได้ออกแนวทางปฏิบัติต่อการวัดความดันเลือด ในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง หรือในคนที่มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดโรคความดันเลือดสูง โดยได้แนะนำให้คนกลุ่มนี้วัดความดันเลือดเองที่บ้าน ที่เรียกว่า Home-Based Blood Pressure Monitoring  (HBPM)

 

ซึ่งก็แน่นอนว่า การวัดความดันเลือดเองที่บ้าน ควรจะต้องรวมถึงกลุ่มคนที่มีโรคร่วมที่เป็นความเสี่ยงทางระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่ เช่น เป็นโรคเบาหวาน สูบบุหรี่จัด ไขมันกระแสเลือดสูง หรือเคยเกิดหัวใจขาดเลือดฉับพลันมาแล้ว เพราะว่า หากคนเหล่านี้ เกิดมีความดันสูงที่ “ซ่อน” อยู่ ตรวจไม่ได้เห็นชัดจากการเจอหน้าหมอไม่กี่นาทีในรอบสามเดือน ความดันสูงที่ “ซ่อน” อยู่นี้ จะทำให้อายุของคนคนนั้น..สั้น…กว่าที่ควรจะเป็นยิ่งขึ้นไปอีก

 Reference

  1. Hypertension: Companion to Braunwald Heart Disease 2nd Edition, Chapter 2 – 4.
  2. AHA/ASH/PCNA Scientific Statements: Call to Action on Use and Reimbursement for Home Blood Pressure Monitoring
    Hypertension.2008; Vol 52: Page 10-29

     

 

Leave a Reply