You are currently viewing ภาวะหัวใจโต กับ ความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ แต่ขาดเลือด

ภาวะหัวใจโต กับ ความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ แต่ขาดเลือด

ตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่าง ล่ำบึ๊กขึ้น ในคนที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นสัญญาณเริ่มต้น อย่างหนึ่งของภาวะหัวใจโต แต่ทีนี้ ..ปัญหาคือ แล้วภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว กำยำล่ำสันขึ้น หรือที่เรียกว่า Left Ventricular Hypertrophy – LVH นั้น… มันมีความสำคัญอย่างไร

กล้ามเนื้อหัวใจล่ำสันผิดปกติ กับภาวะขาดเลือดไปเลี้ยง (LVH and Ischemia)

ปกติแล้ว กล้ามเนื้อคนเรา ไม่ว่าจะเป็นที่กล้ามเนื้อแขนขา หรือกล้ามเนื้อหัวใจ ..มันจะมีกระแสเลือดไปหล่อเลี้ยง ที่ได้สมดุลกับขนาดมวลกล้ามเนื้ออยู่เสมอ .. อย่างเช่นสมมุติว่า เราไปเล่นเวท จนสามารถนอนดันบาร์เบลล์ในท่า Bench Press ได้สองร้อยปอนด์ กล้ามเนื้อหน้าอกของเราก็จะขยายขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ร่างกายก็ต้องมีเลือดหล่อเลี้ยงเพิ่มขึ้นด้วย โดยการเพิ่มจำนวนหลอดเลือดแดง-ดำ ขยายขนาดหลอดเลือดให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม …และแน่นอนคือ หลอดเลือดแดงที่ขยายขนาดขึ้นมา ก็ย่อมต้องไปด้วยกันกับระบบหลอดเลือดฝอยที่เสมือนเป็นตรอกซอกซอยเล็กซอยน้อย ที่อยู่ประชิดกับเส้นใยกล้ามเนื้อนั่นเอง

พูดได้อีกอย่างคือ ถ้าหากการใหญ่โตของมวลกล้ามเนื้อเป็นไปในทางที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้นจริง ..ระบบหลอดเลือดหล่อเลี้ยง ไม่ว่าเส้นเลือดใหญ่น้อย ฝอยขนาดไหน ก็ย่อมต้องเจริญเติบโตตามไปด้วย อย่างสมดุลกัน.. นี่จึงจะเรียกว่า กล้ามใหญ่ขึ้นอย่าง “healthy”

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หัวใจคนเราทำงานหนักเกิน ตลอดเวลา จนกระทั่งขนาดกล้ามเนื้อล่ำสันขึ้นมานั้น ..กล้ามเนื้อที่หนาตัวขึ้นมานี้ กลับไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากระบบหลอดเลือด เท่าที่ควร กล่าวคือ ในภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น หรือ LVH ..เส้นเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (เรียกว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารี Coronary Artery) กลับจะเกิดปัญหาอุดตัน หรือตีบแคบได้ จากภาวะความดันโลหิตสูง (ซึ่งอาจจะมีเรื่องเบาหวาน หรือแค่ภาวะที่ร่างกายเผาผลาญสารพลังงานได้ไม่ดี เกิดเป็นภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งนอกจากจะเสริมภาวะ LVH แล้ว ก็ยังจะเป็นเหตุร่วมกันทำให้หลอดเลือดแดงอุดตันได้เช่นกัน) 

นอกจากจะเกิดปัญหาการตีบตันของเส้นเลือดแดงโคโรนารี ที่เป็นเส้นหลักๆ ขนาดใหญ่วิ่งบนผิวหัวใจแล้ว การเกิดภาวะ LVH ที่ผิดปกตินี้ ..ยังทำให้จำนวนหลอดเลือดแดงฝอยในกล้ามเนื้อหัวใจ ลดจำนวนลง สลายตัวไป ..ทั้งนี้ หลอดเลือดแดงฝอยนั้น จะเป็นโครงสร้างหลักในการถ่ายเทกระแสเลือด ไปยังใยกล้ามเนื้อในแต่ละซอกอณูของมัดกล้ามเนื้อหัวใจ …ถ้าหากหลอดเลือดฝอยลดจำนวนลงไปจากปกติมาก มันก็เท่ากับการส่งลำเลียงออกซิเจน และสารอาหารต่างๆไปเป็นเชื้อเพลิงให้กำลังงาน แก่กล้ามเนื้อหัวใจ ก็ต้องลดลงไปด้วย 

ดังนั้น กล้ามเนื้อหัวใจที่หนาตัวขึ้นเนื่องจากโรคความดันโลหิตสูง (เบาหวาน อ้วน ทานเค็ม เครียดเป็นอาจิณ – เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญต่อ LVH ได้เช่นกัน) จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะกล้ามเนื้อที่หนาตัวขึ้น มันใช้กำลังงานเพิ่มขึ้นตามมวลกล้ามเนื้อ ..สิ่งที่ตามมาคือ มันก็ต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น และแน่นอนก็ต้องการเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น…

แต่เจ้ากรรม ที่มันจะไม่ได้เลือดมาเลี้ยงเพิ่ม ตรงตามความต้องการของมวลกล้ามหัวใจที่ใหญ่ขึ้น ถ้าพูดศัพท์วิชาการหน่อย ก็ต้องเรียกว่า กำลังสำรองในการส่งเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ มันถดถอยลง …

สามารถกล่าวได้อีกอย่างว่า การที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว – LVH นั้น…บ่งบอกว่าหัวใจคนนั้น ล่อแหลมมากต่อการขาดเลือดไปเลี้ยง

กรณีแบบนี้ จะต่างกับการที่หัวใจมีขนาดโต มวลกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่ม เพราะคนคนนั้นเติบโตขึ้น หรือกำยำล่ำสันเพราะไปเล่นเวท เพาะกาย (แต่ต้อง no steroid นะ) ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ หรือที่ภาษาแพทย์เราใช้คำว่า เป็นไปตาม physiology – สรีรวิทยา… คือหัวใจใหญ่ขึ้น ได้สัดส่วนกับขนาดร่างกายที่กำยำขึ้น ทุกอย่างแข็งแรง – Healthy!

แต่สำหรับกรณีของ LVH ที่เกิดจากโรคาพยาธิเหล่านี้ …มันเป็นสัญญาณเตือนเริ่มแรก ที่สำคัญมาก ว่าคุณมีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจขาดเลือดกะทันหัน …ถ้าไม่กะทันหัน ก็อาจจะเกิดหัวใจอ่อนล้า เป็นภาวะหัวใจวายเรื้อรัง และภาวะ LVH ยังบ่งบอกถึงโอกาสที่จะเกิด โรคเส้นเลือดสมองตีบ/แตกฉับพลัน (Stroke) ได้อีกด้วย…. ยังไม่พอ… คนที่มี LVH …มีโอกาสเสียชีวิตฉับพลันได้มากกว่าเพื่อน อีกต่างหาก

แต่โชคดีอย่างหนึ่งคือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวนั้น เราสามารถทานยารักษา ลดอาหารเค็ม ลดอ้วน เพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายในการเบิร์นพลังงาน (ฮอร์โมนอินซูลิน จุดสปาร์คได้ดีขึ้น หรือที่เรียกภาษาอ่านแล้วงง ว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน – insulin resistance มันดีขึ้น) …หากทำได้ดังนี้ กล้ามเนื้อหัวใจที่มันหนาตัวขึ้นผิดปกติ ก็จะกลับมาสู่ความหนาปกติได้ และความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะตามมา ก็จะลดน้อยลงไปได้มาก

เราสามารถตรวจภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นได้ จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจเอคโค่หัวใจ (echocardiogram ก็คือ การทำอัลตราซาวด์หัวใจนั่นเอง แต่จะเรียกให้เป็นอีกแบบ เพราะการตรวจเอคโค่หัวใจ จะมีการตรวจที่ซับซ้อนเพื่อดูการทำงานของหัวใจโดยเฉพาะ … ความหมายจะต่างจากแค่อัลตราซาวด์โดยทั่วไป)

แต่ก่อนที่จะไปกล่าวถึงการตรวจหาภาวะ LVH นั้น… เรื่องราวของภาวะ LVH มันยังไม่จบแค่กระแสเลือดที่ไปเลี้ยง ไม่สมดุลกับมวลกล้ามเนื้อหัวใจ จนเกิดภาวะที่ล่อแหลมต่อการขาดเลือด เพียงเท่านั้น… หากแต่ ภาวะ LVH (กล้ามหัวใจล่ำสันขึ้นผิดปกติ) จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาในที่สุด นั่นก็คือ

1). ภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว … มีอาการนอนราบไม่ได้ บางครั้งต้องลุกมาหอบกลางดึก เดินทำงานอะไรหน่อยก็เหนื่อยผิดสังเกต …

2). การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ… อาจจะเต้นผิดจังหวะ ที่มาจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าจากหัวใจห้องบน หรือหัวใจห้องล่าง ก็ตามแต่ …ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่กับชีวิตเราได้ทั้งนั้น ..

สองหัวข้อนี้ ขอยกไปว่าในตอนต่อๆไปนะครับ

** แต่ก่อนจะจบบทความส่วนนี้ สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ การรักษาความดันโลหิตสูงนั้น … ไม่ใช่สักแต่กินยาๆๆๆ ไปอย่างเดียว ความดันอาจจะคุมได้บ้างไม่ได้ดีบ้าง เราไม่รู้ ยิ่งถ้าไม่ได้วัดเองที่บ้านเป็นประจำแล้ว ยิ่งหวังอะไรไม่ได้เลยกับการวัดความดันประเภทสามเดือนครั้ง … และนอกจากนี้ เป้าหมายขั้นต้นประการหนึ่งของการรักษาความดันโลหิตสูงก็คือ เรื่องกล้ามเนื้อหัวใจล่ำสัน หนาตัวขึ้น ที่หัวใจฝั่งซ้ายห้องล่าง การคุมความดันโลหิตที่ประสบผลสำเร็จ คือ ความดันลดลงแล้ว และกล้ามเนื้อหัวใจก็ลดการหนาตัวลงมาด้วย เพราะถ้าหากแม้เราจะลดความดันลงได้บ้าง แต่ถ้าหากกล้ามเนื้อหัวใจยังล่ำสันอยู่ ..ก็แสดงว่า ท่านมีระเบิดเวลาของโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รอวันปะทุอยู่

References:

  1. Manual of Hypertension. European Society of Cardiology. Second Edition 2014.
  2. Ischemic and Left Ventricular Hypertrophy.  1993 Oct;14 Suppl F:2-6.
  3. Hypertensive Heart Disease: Relationship of Silent Ischemia to Coronary Artery Disease and Left Ventricular Hypertrophy
     1990 Oct;120(4):928-33.

Leave a Reply