You are currently viewing ภาวะหัวใจโต กับความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ ..แต่กำลังหมดแรงปั้มเลือด

ภาวะหัวใจโต กับความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ ..แต่กำลังหมดแรงปั้มเลือด

ปกติแล้ว หัวใจเรามีหน้าที่สำคัญหลัก คือ การให้กำเนิดกระแสเลือดไหลเวียนไปในระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย และระบบไหลเวียนเลือดไปปอด …ซึ่งคำว่า กระแสเลือดในระบบไหลเวียนนั้น ย่อมไม่ได้หมายความถึงแค่การส่งแรงปั้มเลือดออกจากหัวใจอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังต้องคำนึงถึงการไหลเวียนของเลือดที่ออกจากอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย หรือปอด เพื่อกลับเข้าสู่หัวใจอีกครั้ง เป็นกระแสเลือดไหลเวียน วนอยู่ภายในระบบปิดของร่างกาย

อวัยวะต่างๆจะทำงานเป็นปกติได้ …เราจะไปเดินชอปปิ้ง ทำกิจกรรมทั่วไป โดยไม่เหนื่อย …เราจะสามารถใช้สมองคิดการงานต่างๆอย่างแจ่มใส …เราจะสามารถทานอาหารโดยไม่รู้สึกแน่นเร็วเกินไป …ระบบไตจะขับกรองของเสียออกจากกระแสเลือดได้ดี … ทั้งหมดเหล่านี้ ต้องการปริมาณเลือดไหลวนไปเลี้ยง อย่างเพียงพอ ต่อเนื่อง และผันแปรกับความต้องการใช้พลังงานของอวัยวะนั้นๆได้อย่างดี ..

หัวใจ เป็นตัวให้กำเนิดกระแสเลือดไหลเวียน ไหลเข้าสู่อวัยวะต่างๆ แล้วก็ต้องสามารถไหลกลับเข้าหัวใจได้ อย่างคล่องตัว …แรงส่งเลือดออกจากหัวใจเหมาะสม แรงต้านในการรับเลือดกลับเข้าหัวใจไม่สูงเกินขีดหนึ่งๆ ..หัวใจที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไม่มีข้อติดขัดทางกาย ..แขนขามีกำลัง ความคิดแจ่มใส 

แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่หัวใจเริ่มอ่อนล้าลงไป …กำลังวังชาของเราก็ย่อมถดถอยลงไปช้าๆ …แรกเริ่ม เราอาจจะไม่สังเกต หรืออาจจะ “ไม่ยอมรับ” ว่ากำลังวังชามันถดถอยไปจริง เราก็จะทำงานออกแรงมากได้ไม่เหมือนแต่ก่อน ถ้าเป็นมากเข้า บางคนอาจจะถึงขั้น นอนราบไม่ไหว ต้องนอนหนุนหมอนสองสามใบ หรือมีอาการมาก จนต้องตื่นขึ้นมานั่งหอบเหนื่อยกลางดึก.. ถ้าหากหนักกว่านั้น อาจจะมีขาบวมสองข้าง หรือมีอาการเหนื่อยรุนแรง 

** การศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่าภาวะหัวใจล้มเหลว สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิต และผลแทรกซ้อนต่างๆทาง ระบบหัวใจและหลอดเลือด (หัวใจ จอประสาทตา เส้นเลือดสมอง เส้นเลือดแดงนอกหัวใจทั่วร่างหาย และไต..เป็นต้น) และภาวะหัวใจล้มเหลว มีความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุพื้นฐานโดยตรง 

ภาวะหัวใจวายนั้น ทางการแพทย์เราจะแบ่งเป็นสี่ระยะ ได้แก่ระยะ A, B, C, D โดยทั้งนี้ระยะ A หรือระยะแรกสุด คือ คนคนนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวาย แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีผิดปกติใดๆ ภายในร่างกาย.. ส่วนระยะ D ที่เป็นระยะหัวใจล้มเหลวสุดท้าย หมายความถึง คนที่เป็นหัวใจล้มเหลว แสดงอาการหัวใจวายออกมาแล้ว แม้จะแค่นั่งเฉยๆ ก็ตาม ..ก็ต้องไปเข้าๆออกๆโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ ส่วนระยะ B นั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างหัวใจทั้งลูกแล้ว โดยอาจจะเคยเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น แรงปั้มเลือดของหัวใจ ถดถอยลง 

ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่เหมาะสมจริงๆ คือ การดักตั้งแต่ระยะ A หรือ B ที่อวัยวะอาจจะเริ่มมีความผิดปกติบ้าง แต่ระบบการทำงานยังพอไปได้โดยรวม ทำให้ไม่เกิดอาการแสดงออกมา …ซึ่งการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้น ควรที่จะจัดการตั้งแต่คนป่วยยังอยู่ระยะ A หรือ B ไม่ให้ก้าวหน้าไปเป็น หัวใจล้มเหลวระยะ C และ D ซึ่งการดูแลมันจะซับซ้อนยุ่งยาก และสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก

ลักษณะความผิดปกติของการทำงานของหัวใจล้มเหลวนั้น จะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มหลัก คือ ภาวะหัวใจวายที่กล้ามเนื้อหัวใจปั้มเลือดได้ไม่แรงเท่าก่อน (Heart Failure with Reduced Ejection Fraction) และกลุ่มภาวะหัวใจวายที่กล้ามเนื้อปั้มเลือดได้แรงดีเท่าเดิม แต่หัวใจไม่สามารถคลายตัวเพื่อรับปริมาณเลือดได้พอดี และทันท่วงที (เราเรียกว่า Heart Failure with Preserved Ejection Fraction)

ในกรณีหัวใจวายที่เกิดจากความดันโลหิตสูงนั้น ลักษณะสำคัญคือ หัวใจวายแบบ Heart Failure with Preserved Ejection Fraction – HFpEF) คือ หัวใจปั้มเลือดได้ดี แต่คลายตัวออกรับเลือดเข้ามาใหม่ได้ไม่ดี 

**หัวใจคนเรา เหมือนเหรียญสองด้าน แค่ปั้มเลือดออกแรงดีอย่างเดียวยังไม่พอ หากแต่ต้องสามารถคลายตัวได้รวดเร็วพอ เพื่อการรับเลือดเข้ามาในหัวใจให้เพียงพอ ทำให้ปริมาณเลือดที่ปั้มออกไปนั้น เป็นไปอย่างเพียงพอต่อร่างกาย …ไม่มากไม่น้อยเกิน

เหตุที่หัวใจคลายตัวออกได้ไม่ทันท่วงที และคลายออกได้ไม่เต็มที่นั้น ก็เพราะว่า ในการเกิดความดันโลหิตสูง ..มักจะมีการเกิดใยพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นมา …ใยพังผืดเป็นอย่างไร ก็จินตนาการดูว่า แผลเป็นที่ผิวหนังเรา เกิดจากใยคอลลาเจนจำนวนมาก ถักสานเป็นร่างแห จนเกิดความเหนียว หมดความยืดหยุ่นในตัวเอง และถ้าหากใยคอลลาเจนนี้มีการสะสมในกล้ามเนื้อหัวใจมาก จากโรคความดันโลหิตสูงไปกระตุ้นกระบวนการต่างๆนานา (เกี่ยวข้องกับ Angiotensin II ที่เคยกล่าวในบทความก่อนหน้านี้) กล้ามเนื้อหัวใจ ก็จะสูญเสียความยืดหยุ่นในตัวเอง ..คลายตัวออกได้ไม่เต็มที่ อย่างทันท่วงที

*…(ผิวหนังคนเรา หรือผนังหลอดเลือดแดงใหญ๋ปกติ จะมีเส้นใยอีลาสติก ทำหน้าที่ให้ผิวหนังเกิดความยืดหยุ่น , ส่วนคอลลาเจน ที่เราชอบดูโฆษณากันว่า ทำให้ผิวหน้ามีน้ำมีนวลนั้น ..จริงๆแล้ว คอลลาเจนคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความเหนียวแน่น เหมือนรอยแผลเป็นหนาๆที่ผิวหนังน่ะครับ มันไม่ยิืดหยุ่นเท่าไหร่)…* 

การรักษาความดันโลหิตสูง จึงควรจะคอยติดตามดูด้วยว่า หัวใจของเรานั้น มันเริ่มทำงานหนักเกินจนมันล่ำบึ๊กขึ้นมาเกินปกติแล้วหรือยัง… มวลกล้ามเนื้อหัวใจ ที่ใหญ่ล่ำขึ้นนั้น บ่งบอกว่าคนคนนั้น มีโอกาสเสียชีวิตหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด (เช่น เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน, อัมพาตอัมพฤกษ์ ฯลฯ) เพราะถ้าหากเรารู้ว่า กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น การรักษาความดันโลหิตสูงให้เข้มงวดขึ้น ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มมีอาการทางหัวใจออกมาชัดๆ จะช่วยทำให้หัวใจไม่พังไปเสียก่อนเวลาอันควร ทำให้เรามีชีวิตยืนยาวแบบมีกำลังวังชาที่ดี

.. ก็แค่ควบคุมความดันให้เข้มงวดเข้าหน่อย ..มันย่อมคุ้มค่ากับชีิวิตเรา จริงหรือไม่…

แต่ในทางปฏิบัติจริงๆนั้น คนที่มีรับยารักษาความดันโลหิตสูง ทุกๆสามเดือน จะมีซักกี่คนเชียว ที่จะได้รับการตรวจเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เพราะการตรวจว่าหัวใจล่ำสันขึ้นหรือไม่นั้น แค่การตรวจร่างกายทั่วไป ไม่น่าจะบอกได้ชัดเจนนัก ..หากแต่ต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษเข้าช่วย ..จากเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือ การตรวจ เอคโค่หัวใจ…ไปจนถึงการตรวจหัวใจในอุโมงค์สนามแม่เหล็ก (cardiac MRI)… ปัญหานี้ ..กระผมยังคิดว่า ไม่น่าจะแก้กันได้ง่ายๆ 

แต่เอาเป็นว่า ถ้าหากเราตระหนักไว้ก่อน ว่าความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวได้ เกิดปัญหาระยะยาวเป็นหัวใจล้มเหลว หัวใจวายได้ …เราก็ต้องเข้มงวดกับตัวเองให้มากขึ้น เรื่องการทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง ..ภาวะอ้วน หรือลักษณะนิสัยที่ไปเร่งให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดพังเร็วเข้าไปอีก เช่น โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ ภาวะเครียดเป็นอาจิณ เหล่านี้ ต้องพยายามแก้ไข ให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ยืนยาวแบบแข็งแรง

เรียกว่า ถ้าหากวัดความดันเลือดเองได้ที่บ้าน ก็ควรกระทำ และจดบันทึกไว้สม่ำเสมอ เพราะความดันเลือดที่วัดเองที่บ้านในระยะยาวนั้น จะสะท้อนประสิทธิผลของการรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ดีกว่าแค่ไปวัดความดันสามเดือนครั้ง ตามหมอนัด.. และความดันเฉลี่ยที่เหมาะสมคือ ค่าความดันต่ำกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท…** ไม่ใช่ระตับตัวเลข 140/80 แล้วนะครับตาม guidelines ล่าสุดของ American Heart Association

เรื่องความดันสูง กับหัวใจโต ยังเหลืออีกตอนสุดท้ายครับ 

ในตอนต่อไป จะกล่าวถึง กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว กับการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบร้ายแรง …อาจจะถึงตายได้ทันที กะทันหัน หรือเกิดลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดสมอง …สาหัสได้ทั้งนั้นครับ

 

References:

  1. Manual of Hypertension European Society of Hypertension 2nd Edition 2014.
  2. Hypertension: A Companion to Braunwald’s Heart Disease. 3rd Edition 2018.

Leave a Reply