You are currently viewing ภาวะหัวใจโต กับความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ แต่เต้นไม่เป็นส่ำ

ภาวะหัวใจโต กับความดันโลหิตสูง – หัวใจกล้ามใหญ่ แต่เต้นไม่เป็นส่ำ

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล่ำสันขึ้น หรือ LVH นั้น… เป็นภาวะที่ทำให้จู่ๆ หัวใจก็เต้นไม่เป็นส่ำจริงๆขึ้นมาได้ ..ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาการใจเต้นไม่เป็นส่ำ หรือระทึกใจแต่อย่างใด หากแต่หมายถึง การที่กล้ามเนื้อหัวใจในบางส่วนมีกระแสไฟฟ้าสปาร์คขึ้นมา อาจจะมีไฟฟ้าสปาร์คขึ้นมาแค่จุดเดียว หรืออาจจะเกิดจากไฟฟ้าในกล้ามเนื้อหัวใจสปาร์คขึ้นมามากมายหลายตำแหน่ง พร้อมๆกัน 

ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึงครับ คือ ปกติแล้ว หัวใจคนเราเต้นได้ตามจังหวะจะโคนนั้น ก็เพราะมีการให้จุดกำเนิดกระแสไฟฟ้า ที่จุดกำเนิดเหนือหัวใจห้องขวาบน (บริเวณรอยต่อหลอดเลือดดำใหญ่ที่รับเลือดมาจากร่างกายท่อนบน ต่อกับหัวใจห้องขวาบน) จุดกำเนิิดนี้ ก็เรียกภาษาตามตำแหน่งของมันคือ จุดกำเนิด ณ รอยต่อหัวใจขวาบน และหลอดเลือดดำใหญ่ หรือ Sino-Atrial Node และจากนั้น กระแสไฟฟ้าก็จะส่งต่อไปยัง จุดกำเนิดไฟฟ้าขั้นที่สอง ซึ่งอยู่ ณ ขอบรอยต่อระหว่างหัวใจห้องขวาบน กับห้องขวาล่าง ซึ่งมันก็มีชื่อแปลตรงตัวอีกเช่นกัน คือ Atrio-Ventricular Node : node ที่ตำแหน่งรอยต่อหัวใจห้องบน (Atrium) กับล่าง (Ventricle)

การให้กำเนิดไฟฟ้าตามปกติ จะมีมาจากสองสถานีไฟฟ้านี้เท่านั้น …คือ SinoAtrial Node ส่งไฟฟ้าต่อมาให้ Atrioventricular node ..และจากนี้ ก็จะกระจายสัญญาณไฟฟ้า ไปที่หัวใจห้องล่างทั้งฝั่งซ้ายและขวา โดยพร้อมเพรียงกัน ..ซ้ายกับขวาจะรับสัญญาณไฟฟ้าเกือบพร้อมกัน ทำให้หัวใจทั้งสองฝั่งเต้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ห้องบนก็เต้นพร้อมกัน สลับกับห้องล่าง

แต่ถ้าหากเกิดมีสภาวะอะไรก็แล้วแต่ ที่ไปทำให้กล้ามเนื้อหัวใจของหัวใจห้องล่าง เกิดจุดสปาร์คไฟ ขึ้นมา ซึ่งปกติแล้วจะไม่มี เพราะไฟฟ้าที่ปกติ จะมาจากสองสถานีส่งเท่านั้น จะไม่ออกจากตัวกล้ามเนื้อหัวใจเอง …ในสภาพปกติ กล้ามเนื้อหัวใจจะ “รับสัญญาณ” เข้ามาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเท่านั้น จะไม่ได้เป็น “ตัวส่ง” สัญญาณเสียเอง

แต่ถ้าหากกล้ามเนื้อหัวใจเกิดมีใยพังผิดไปแทนที่ใบกล้ามเนื้อ เมื่อสะสมมากเข้าถึงขีดหนึ่ง ก็จะทำให้กระแสไฟฟ้า “ลัดวงจร” เกิดการสปาร์คเป็นจุดกำเนิดไฟฟ้าขึ้นมาได้ ในผนังกล้ามเนื้อหัวใจ …

ซึ่งหัวใจปกติของคนเรา คงไม่มีการเกิดเยื่อใยพังผืดขึ้นมากเฉยๆได้ แต่มันต้องมีเหตุชักนำบางอย่าง …ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า หัวใจจะเกิดเยื่อพังผืดได้ ก็น่าจะเพราะมันต้องเคยขาดเลือด แล้วกล้ามเนื้อหัวใจตาย และสมานหายเป็นเนื้อฟังผืด (ซึ่งก็ประกอบไปด้วยใบคอลลาเจนนั่นเอง – คอลลาเจน ก็คือ เยื่อใยพังผืด หรือ fibrous tissue นะครับ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผิวหน้าชุ่มชื่น มีความยืดหยุ่นนิ่มนวลแต่อย่างใดเลย ..ถ้าจะให้ใบหน้ามีคอลลาเจนเยอะๆ ..ก็ทำให้เกิดแผลเป็นขึ้นมาเยอะๆ นั่นล่ะคือ คอลลาเจนอย่างแน่นอน) …ซึ่งก็มีส่วนจริงตามนี้ ทีเดียว ที่เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขาดเลือดรุนแรงจนกระทั่งกล้ามเนื้อหัวใจตาย เสียหายถาวร มันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของใบกล้ามเนื้อ เป็นใยพังผืดแทน …และสามารถก่อกำเนิด “ประกายไฟ” ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบร้ายแรงได้

แต่ทว่า หลักฐานทางการแพทย์เราพบว่าในคนที่ เส้นเลือดหัวใจโล่งปกติ ไม่เคยเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะขาดเลือดรุนแรงมาก่อน พลังการปั้มเลือดออกก็แรงดีอยู่ …แต่กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น หรือเกิด LVH – Left Ventricular Hypertrophy …อาจจะจากความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะอ้วน เบาหวาน ทานเค็ม เครียดวิตกอย่างรุนแรงเรื้อรัง เหล่านี้ ก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ล่ำสัน ขึ้นได้ …แต่มันจะไม่ใช่กล้ามเนื้อหนาตัวขึ้นเฉยๆ ทว่า มันจะเกิดใยพังผืดแทรกเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อหัวใจได้… ต้นสายปลายเหตุก็ไม่ใช่อะไรมาก แต่เป็นระบบฮอร์โมนในร่างกาย ที่ควบคุมระดับของเปปไทด์ Angiotensin II …ซึ่งถือเป็นพระเอกในการเกิดความดันโลหิตสูง และการก่อตัวของใยพังผืดขึ้นมาในกล้ามเนื้อหัวใจ 

เมื่อเกิดใยพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจแล้ว สิ่งที่ตามมาติดๆก็คือ การนำไฟฟ้าแปรปรวน หรือกระทั่งอาจจะเกิดการประจุไฟฟ้าขึ้นมา จนกลายเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในกล้ามเนื้อหัวใจได้ ที่มันเป็นอันตรายถึงชีวิต ก็เพราะไฟฟ้าที่ก่อตัวในกล้ามเนื้อหัวใจนี้ จะทำให้หัวใจห้องล่างเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ หรืออาจจะเต้นสม่ำเสมอในช่วงแรกๆ แต่มันเต้นเร็วมากเกินไป หัวใจห้องซ้ายล่1างทั้งลูกอาจจะบีบพร้อมกันจริง แต่ไม่มีเลือดปั้มออกมาเลย เนื่องจากเมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วมากๆ จะทำให้เลือดไหลเข้าไปในห้องหัวใจไม่ทันใด หัวใจก็ปั้มเลือดออกมาแล้ว …ความดันเลยตก จนอาจจะถึงกับหมดสติไปได้ 

สรุปใจความตอนนี้ก่อนคือ ภาวะ LVH ซึ่งเกิดได้บ่อยในคนที่มีโรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมได้ไม่ดีพอ (อาจจะระดับความดันเหมาะสม เมื่อไปวัดความดันกับหมอ, แต่พอมาวัดเองที่บ้าน ปรากฏว่า ความดันเลือดสูงเกิน 140/80 ทุกที) ซึ่งภาวะ LVH จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นมาได้ (ทั้งห้องบน และห้องล่าง) เกิดเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา โดยเฉพาะในกรณีที่มีจุดสปาร์คไฟฟ้าในกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่าง ซึ่งทำให้ถึงแก่ชีวิตได้อย่างกะทันหันเลยทีเดียว

ส่วนถ้าหากหัวใจห้องบน เกิดการเต้นผิดจังหวะ ที่มาจากสาเหตุต่างๆ (โดยโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการนี้).. การเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องบน จะไม่ถึงขนาดทำให้ไม่มีเลือดปั้มออกจากห้องหัวใจเลย เพราะแม้ว่าหัวใจห้องบน จะนำไฟฟ้าจนตัวเองเต้นขนาด 300-500 ครั้งต่อนาที แต่หัวใจห้องล่างจะยังคงได้รับสัญญาณไฟฟ้าที่ถูก “กรองความถี่” ไม่ให้หัวใจห้องล่าง มีอัตราการบีบตัวที่เร็วเกินไป.. เช่น หัวใจห้องบนเต้นผิดปกติ 500 ครั้งต่อนาที คือจะไม่เต้นแบบจังหวะเหมือนลูกสูบเข้าออกเข้าออก แต่อาจจะเต้นเพียง อย่างมาก 160 – 170 ครั้งต่อนาที ความดันเลือดอาจจะตกลงบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับน๊อคหมดสติไป อย่างกรณีของหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular Arrhythmia) ซึ่งจะมีความร้ายแรงกว่ามาก

หัวใจห้องบน เกิดการเต้นระรัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจโดยรวมไม่สม่ำเสมอเหมือนคนปกติ …ภาวะที่ว่านี้ เราเรียกภาษาหมอว่า  Atrial Fibrillation ….หรือย่อสั้นๆ ว่า Afib หรือ AF …

หัวใจห้องล่าง เกิดการเต้นระรัว นัวไปหมดอย่างรวดเร็ว ภาวะนี้ เรียกว่า Ventricular Arrhythmia แปลตรงๆว่า การเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่าง ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งสองอย่าง เกิดได้จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ล่ำสันขึ้นผิดปกติ โดยสาเหตุหลักมาจาก โรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมได้ไม่ดี

ผลแทรกซ้อนของ AF คือการเกิดเลือดจับเป็นลิ่มในหัวใจห้องซ้ายบน และวันดีคืนร้าย เจ้าก้อนลิ่มเลือดนี้ ก็จะหลุดลอยเข้าไปในกระแสเลือดแดง ที่ส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และอวัยวะสำคัญ…. หนึ่งในนั้น คือ สมอง! .. ดังนั้น คนที่เป็นความดันโลหิตสูง ที่ผนังหัวใจหนาตัวขึ้น…จึงเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตอัมพฤกษ์จากก้อนเลือดที่จับเป็นลิ่ม ลอยไปอุดเส้นเลือดแดงในสมอง

ผลแทรกซ้อนของ Ventricular Arrhythmia ก็เห็นจะเป็น…ความตายแบบไม่ทันได้สั่งลา!…

ปกติแล้ว ในชีวิตการทำงานของกระผม ก็จะมีโอกาสได้เห็นการเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างแบบเห็นกับตา ว่ามันเต้นรัวตึ๊ก..ตึ๊ก..ตึ๊ก ยังไง เพราะในการผ่าตัดหัวใจ โดยเฉพาะเคสที่ทำผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ … เมื่อเราให้หัวใจกลับมาเริ่มเต้นใหม่ หลังจากทำให้หัวใจหยุดเต้นชั่วคราว ในตอนผ่าตัด ..ก็จะพบว่าหัวใจที่เริ่มกลับมาเต้นอีกครั้งนั้น มีบางครั้งที่มันจะเต้นแบบผิดจังหวะปกติ ..ไม่มีการปั้มเลือดออกมา ซึ่งก็จะเห็นได้จากมอนิเตอร์ความดันในหลอดเลือดแดง ว่า ไม่มีความดันออกจากหัวใจเลย… เราก็ทำการช๊อคไฟฟ้าสักครั้งหรือสองครั้ง หัวใจก็จะกลับมาเต้นปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็เริ่มกลับมาหน้าตาปกติ

คือในตอนหน้างาน ขณะผ่าตัดหัวใจ …หัวใจห้องล่างจะเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงก็จริง แต่เราก็สามารถหาวิธีแก้ไขได้ไม่ยากนัก (อาจจะมีบ้างที่ต้องช๊อคไฟฟ้ามากกว่าสองครั้ง แต่ก็มักจะเกิดกับการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่าการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ) หัวใจก็กลับมาเต้นปกติ

(*** การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจสามหรือสี่เส้น จะใช้เวลาประมาณ 40 – 50 นาที ถ้าผมผ่านะครับ.. ซึ่งในจังหวะนี้ เราต้องการให้หัวใจหยุดเต้น จะได้เย็บหลอดเลือดหัวใจด้วยความแม่นยำสูง ***)

แต่ถ้าหากการเต้นผิดจังหวะแบบไม่มีเลือดปั้มออกมาจากหัวใจเลย ไปเกิดขึ้นกะทันหัน ตอนคุณกำลังอยู่คนเดียว หรือกำลังขับรถ อยู่ล่ะ… มันก็น่ากลัวมากนะครับ

คุมความดันให้ดี … กล้ามเนื้อที่หนาตัวขึ้น มันก็สามารถกลับมาหดสู่ขนาดปกติได้ และผลแทรกซ้อนที่เราไม่อยากประสบพบเจอ เช่นพวกหัวใจวาย น้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งร้ายแรงถึงตาย หรือไม่ร้ายแรงแต่ทำให้ก้อนลิ่มเลือดขึ้นไปอุดเส้นเลือดสมองได้ ..สิ่งเหล่านี้ มันก็จะห่างไกลเรามากขึน 

แล้วเราจะทราบได้ว่า หัวใจเราหนาตัวผิดปกติ เกิด LVH ขึ้นแล้ว…ก็สามารถตรวจได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจเอคโค่หัวใจ …ซึ่งเป็นการตรวจที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร สามารถทำได้รวดเร็วที่โอพีดีหัวใจทั่วๆไป… 

References:

  1. Effect of Left Ventricular Hypertrophy and its regression on Ventricular Electrophysiology and Vulnerability to Inducible Arrhythmia in the Feline Heart. Seth JRYing Wu et.al Circulation. 
  2.  Ventricular Arrhythmias in Patients with Hypertensive Left Ventricular Hypertrophy. James MM, et. al. The New England Journal of Medicine 1987; 317:787-792
  3. Impact of Left Ventricular Hypertrophy on Ventricular Arrhythmias
    In the Absence of Coronary Artery Disease. Jalal KG, SUNIL K. et. al. Journal of The American College of Cardiology 1991;17:1277-82
  4. Manual of Hypertension of European Society of Hypertension, 2nd Edition 2013.
  5. Hypertension: Companion to Braunwald Heart Disease 3rd Edition 2018.

Leave a Reply