You are currently viewing ความดันโลหิต กับ หัวใจ และระบบหลอดเลือดแดง

ความดันโลหิต กับ หัวใจ และระบบหลอดเลือดแดง

ความดันโลหิตสูง กับ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว

Hypertension and Left Ventricular Hypertrophy


โดยทั่วไปแล้ว เราจะนิยามความหมาย ของภาวะความดันโลหิตสูง โดยการวัดค่าแรงดันที่กระทำต่อผนังท่อหลอดเลือด ที่แขน .. ซึ่งค่าแรงดันเลือดที่วัดได้ เราจะอนุมานเอาว่าเป็นค่าแรงดันที่พอเทียบเคียงได้กับค่าแรงดันเลือด ที่ตำแหน่งขั้วหัวใจ

ค่าแรงดันที่แขน เป็นค่าความดันเลือดที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ค่าความดันที่มีผลโดยตรงต่อระบบการไหลเวียนเลือดแดง ที่หัวใจ และสมอง นั้น… จะเป็นค่าความดันเลือด ในตำแหน่งหลอดเลือดแดงใหญ่ขั้วหัวใจ มากกว่า

แรงดันเลือดที่ขั้วหัวใจนี้ มีผลโดยตรงต่อ “แรงต้าน” การปั้มเลือดออกจากหัวใจฝั่งซ้าย ถ้าหากแรงดันที่ขั้วหัวใจสูงกว่าปกติ หัวใจฝั่งซ้ายก็จะทำงานหนัก ต้องออกแรงมากกว่าปกติ ทำให้หัวใจหนาตัวขึ้น ..ปัญหาคือ มันไม่ใช่ว่าหัวใจกล้ามใหญ่จะดี …หากแต่ ถ้าหัวใจมีกล้ามหนาเกินไป เส้นเลือดมันจะไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่ตลอดทั่วความหนา ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ ..ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นมาได้

อาจจะกล่าวได้อีกอย่างว่า เนื่องจาก ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดแดง (เช่น เส้นเลือดสมองตีบ, หัวใจขาดเลือด, จนเกิดหัวใจวาย เป็นต้น) และคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตามสถิติแล้วจะมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวได้ราวๆ 20-50% …. ดังนั้นแล้ว จึงไม่น่าจะเกินเลยนัก หากจะบอกว่า ถ้าคุณตรวจพบว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ..ก็ควรที่จะพึงสังวรณ์ไว้ก่อนเลยว่า เราเองอาจมีโรคหัวใจซ่อนอยู่ ในลักษณะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นกว่าคนปกติ ที่ไม่มีโรคความดันโลหิตสูง

ในชีวิตจริงจากประสบการณ์ของผม คนป่วยโรคความดันโลหิตสูงจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความดันโลหิตสูงมานานหลายปี ระดับความดันไม่ค่อยจะคุมได้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเท่าไหร่นัก … กลุ่มนี้ เสี่ยงต่อระเบิดเวลาที่เป็นภัยเงียบ ย่างกรายเข้ามาช้าๆ โดยไม่รู้ตัว … 

คนไข้ความดันสูง …เอ่อ ไม่อยากใช้คำว่าส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นความจริงของชีวิตในปัจจุบัน ว่าคนไข้จำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่การรักษาความดันสูง ค่อนข้างจะเหมือนถูก “ละเลย” ..กล่าวคือ ความดันที่วัดได้ที่โอพีดี มักจะอยู่ราวๆ 150+/90+ มิลลิเมตรปรอทอยู่เนืองๆ ..อาจจะมีบ้างบางครั้งที่ความดันวัดได้ลดลงไป 130/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ก็ไม่กี่ครั้ง …ซึ่งเรื่องความผันแปรของระดับค่าความดันเลือดนี้ จะเอาไว้กล่าวถึงในบทความอีกซีรี่ส ..เป็นหนังม้วนยาว

แต่คนไข้ที่ความดันอยู่ในระดับ 150+/90+ เหล่านี้ แม้ว่าเขาจะมาโรงพยาบาลกันตามนัดตลอด …ทานยาความดันตลอด เอายาไปทีเป็นถุงๆ …กินบ้างลืมบ้าง หล่นหายบ้าง ..หรือหมอที่รักษา ซึ่งเป็นแพทย์ทั่วไปส่วนมาก อาจจะคิดว่า ค่าความดันระดับนี้ “ไม่เป็นไร”… ผลก็คือ คนไข้กลุ่มนี้ ในเวลาอีกไม่กี่ปีต่อมา กล้ามเนื้อหัวใจที่หนาตัวมานานๆ ก็จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดหัวใจตีบตันรุนแรงกะทันหัน ..อาจจะเกิดเส้นเลือดสมองแตก/ตีบ อัมพาตอัมพฤกษ์….หรือไม่ก็อาจจะทำให้ไตเสื่อมการทำงานลดลงเรื่อยๆ ภาวะไตวายเรื้อรัง ต้องมาทำเส้นล้างไตกันวุ่นวาย และรบกวนความเป็นปกติสุขของชีวิตอย่างแน่นอน  

 ประเดี๋ยวก่อนๆ…ในหัวเรื่องนี้ คือ ความดันสูงกับหัวใจหนาตัว …เรื่องเส้นเลือดสมอง กับไตวาย และผลแทรกซ้อนอันตรายอื่นๆ ยังมีอีกเยอะ ไว้จะลงลึกในรายละเอียด ในหัวข้อเฉพาะเป็นเรื่องๆไปอีกทีนะครับ

กลับมาดูเรื่องความดันสูงกับโรคหัวใจกันต่อ…

…ก่อนอื่น ขอลงลึกในแง่วิชาการอีกนิด..

คือ การบอกว่า ระดับแรงดัน ตรงตำแหน่งขั้วหัวใจที่สูงกว่าปกติ ทำให้หัวใจต้องเล่นเวทตลอดเวลาจนกล้ามหัวใจใหญ่บึ้กขึ้นมานั้น … อันที่จริงแล้ว ความดันสูง เป็นสาเหตุเพียงส่วนเดียว … สาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นนั้น ยังมีเหตุมาจากสาร Angiotensin II และสาร endothelin ที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดอีกด้วย… 

ที่ต้องยกชื่อศัพท์แสงวิชาการขึ้นมา ไม่ใช่เพราะอยากให้บทความมันดู “แกรนด์” เพราะมันอ่านไม่รู้เรื่องแต่อย่างใด …แต่ที่อยากจะยกชื่อ Angiotensin II ขึ้นมา ..เพราะเจ้าสารเปปไทด์ตัวนี้ เป็นพระเอกตลอดกาลในหนังซีรีย์เรื่องความดันโลหิตสูง และระบบหัวใจและหลอดเลือด  (เปปไทด์ peptide คือกรดอะมิโนเรียงตัวกันเป็นสาย, สำหรับ Angiotensin II เป็นเปปไทด์ ที่มีกรดอะมิโนเรียงกันแปดตัว หรือ octa-peptide) 

ที่ว่าเป็นพระเอกตลอดกาล ก็เพราะว่า angiotensin II มีผลต่อระบบอวัยวะต่างๆมาก อย่างเช่นที่หัวใจ …เจ้าเปปไทด์แปดตัวแถวเรียงหนึ่งนี้ มันก็ไปทำให้กล้ามเนื้อหัวใจ กลายสภาพเป็นเยื่อพังผืด มันทำให้หลอดเลือดแดงในหัวใจ หรือระบบอวัยวะอื่นๆ เกิดการหนาตัว มีเยื่อพังผืดหุ้มรอบหลอดเลือดแดง …หลอดเลือดแดงหนาตัวและความยืดหยุ่นลดลง ..ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อหลอดเลือดแดงก็หดแคบลงไปด้วย

ความหมายของหลอดเลือดแดงในหัวใจเกิดการตีบแคบ ในกรณีนี้นั้น ไม่ได้หมายถึงแค่หลอดเลือดหัวใจที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่บนผิวหัวใจ (เป็นหลอดเลือดแดงที่การทำบอลลูนหรือการผ่าตัดบายพาส สามารถแก้ไขการตีบตันได้) เท่านั้น… หากแต่หมายถึงหลอดเลือดแดงฝอยที่อยู่ในกล้ามเนื้อชั้นลึกของหัวใจด้วย (ซึ่งหลอดเลือดแดงฝอยเหล่านี้ บอลลูนหรือบายพาส ..ก็ช่วยไม่ได้ล่ะครับ) 

ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาสองเด้ง คือ กล้ามเนื้อหัวใจล่ำขึ้น หนาตัวขึ้น แต่หลอดเลือดที่มาเลี้ยงมันตีบแคบลง (ทั้งหลอดเลือดแดงใหญ่บนผิวหัวใจ และหลอดเลือดแดงฝอยภายในชั้นกล้ามเนื้อหัวใจ)… ผลที่จะตามมา คือ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วน ต้องเสียหาย หรือ “ตาย” นั่นแหละครับ เนื่องเพราะกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ นอกจากทำงานหนักแล้ว ยังขาดเสบียงกรังมาส่งได้ทัน เพราะ “ท่อน้ำเลี้ยง” เลือดแดง มันตีบแคบ…

ลองเจอสองเด้งแบบนี้ ไม่กี่ปี หัวใจก็คงต้องพังยับเยิน เป็นแน่..

และก็จริงดังว่า เพราะมีคนไข้โรคเส้นเลือดหัวใจตีบหลายเส้น ที่ต้องปรึกษาทำผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (รายที่ตีบหลายๆเส้น การทำบอลลูนใส่ขดลวดอาจจะไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัย) ..มีหลายราย ที่หัวใจมีแรงปั้มเลือดแผ่วลงไปมาก ..จนมีหลายเคสที่ วัดค่าแรงปั้มเลือด หรือ LVEF ได้น้อยกว่า 30% (LVEF ก็คืออัตราส่วนปริมาณเลือดที่ปั้มออก หารด้วยปริมาณเลือดตั้งต้นในหัวใจห้องซ้าย – ค่าปกติต้องมากกว่า 55%) เพิ่มความเสี่ยงการผ่าตัดบายพาสหัวใจไปบ้าง แต่ก็ต้องลุย ..ไม่งั้นหัวใจยิ่งพังหนักกว่าเดิม!

 

References

  1. Manual of Hypertension of European Society of Hypertension,2nd Edition Chapter 13 STRUCTURAL CARDIOVASCULAR CHANGES IN HYPERTENSION

Leave a Reply